หน่วยที่ 1 วัฒนธรรมไทย

หน่วยที่ 1 วัฒนธรรมไทย 1.ประเพณี และวัฒนธรรมไทย ชนชาติไทยเป็นชาติเก่าแก่ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อาศัยอยู่มากมาย ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ เรียนรู้ แลกเปลี่ยน สิ่งต่าง ๆ ที่ดำเนินในชีวิตประจำวัน จนหล่อหลอมให้รวมเป็นประเพณี วัฒนธรรม ที่มีคุณค่าเป็นเอกลักษณ์ของชาติ เป็นสิ่งที่ช่วยให้ชาติดำรงอยู่ได้ และเป็นสิ่งที่เชิดชูความเป็นไทยให้เป็นที่รู้จักแก่ชาวโลกอีกด้วย 1.1. ความหมายของประเพณี และวัฒนธรรมไทย ความหมายของประเพณี ประเพณี คือ ความประพฤติในทางที่ดีของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่นิยมปฏิบัติมาเป็นเวลานาน จนกลายเป็นการกระทำที่ยอมรับสืบทอดมาในสังคมปัจจุบัน ประเพณีไทยแบ่งออกได้เป็น 1. ประเพณีเกี่ยวกับชีวิตมักเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัวเฉพาะบุคคล เช่นประเพณี เกี่ยวกับการเกิด ประเพณีที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวในการเกิด ประเพณีงานศพ ประเพณีแต่งงาน เป็นต้น 2. ประเพณีเกี่ยวกับเทศกาลเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับคนในชาติมาทำร่วมกันจะคล้ายคลึงกัน ทั้งประเทศ ภายใน 1 ปีจะมีประเพณีเทศกาล เช่น ประเพณีทำบุญวันขึ้นปีใหม่ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีทำบุญวันสารท ประเพณีลอยกระทง เป็นต้น 3. ประเพณีในวันสำคัญทางศาสนา ประเทศไทยเป็นประเทศที่นับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนา ประจำชาติ ดังนั้นจะมีประเพณีเนื่องในวันสำคัญทางศาสนา เช่น ประเพณีวันออกพรรษา วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา เป็นต้น 4. ประเพณีทางราชการพิธีหลวงสำหรับพระมหากษัตริย์ และรัฐพิธี คือ พิธีที่รัฐบาลหรือทาง ราชการจัดขึ้น เช่นพระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น ความหมายของวัฒนธรรม มีหลายความหมายดังนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้นิยามความหมายของ“วัฒนธรรม” ไว้ 3 ความหมายดังนี้ 1. สิ่งที่ทำความเจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ 2. วิถีชีวิตของหมู่คณะ 3. ลักษณะที่แสดงถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติ และศีลธรรมอันดีงามของประชาชน พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ประทานคำอธิบายไว้ว่า “วัฒนธรรม” หมายถึง ความเจริญในทางวิชาความรู้ เช่น วิทยาศาสตร์ ศิลปวิทยา วรรณคดี ศาสนา ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้อธิบายความหมายวัฒนธรรม ไว้หลายความหมายดังนี้ 1. วัฒนธรรมเป็นผลรวมของการสั่งสมสิ่งสร้างสรรค์และภูมิธรรมปัญญาที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาของสังคมนั้น ๆ 2. วัฒนธรรมเป็นการสั่งสมประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ภูมิธรรมปัญญาทั้งหมดที่ช่วยให้มนุษย์ในสังคมนั้น ๆ อยู่รอด เจริญสืบต่อได้ และเป็นอยู่อย่างที่เป็นในบัดนี้ 3. วัฒนธรรม คือ ผลรวมของทุกสิ่งซึ่งเป็นความเจริญงอกงามที่สังคมนั้น ๆ ได้ทำไว้หรือได้สั่งสมมาจนบัดนี้ วัฒนธรรม หมายถึง วิถีการดำรงชีวิตที่มนุษย์ได้ช่วยสร้างสรรค์ขึ้น และได้รับการสืบทอด ต่อกันมาจากอดีตสู่ปัจจุบัน และเป็นผลผลิตที่แสดงออกถึงความเจริญงอกงามของมนุษย์ในด้านวัตถุและจิตใจ (ถวัลย์ศักดิ์ พัวพงษทอง และคณะ. 2549 : 102) สรุป วัฒนธรรม คือ วิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์ที่เกิดจากความรู้ สติปัญญา ที่ใช้ในการได้สั่งสมสืบทอดต่อกันมาของสังคมนั้นๆ จากอดีตถึงปัจจุบันจนกลายเป็นมรดกของสังคม ได้แก่ ความรู้ ค่านิยมความเชื่อ ศาสนา ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี ประเภทของวัฒนธรรม วัฒนธรรม แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. วัฒนธรรมด้านวัตถุ (Material Culture) คือ วัฒนธรรมที่ปรากฏออกมาเป็นรูปธรรม เป็น สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต เช่น เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ บ้านเรือน เสื้อผ้า พระพุทธรูป เครื่องดนตรี เป็นต้น 2. วัฒนธรรมด้านจิตใจ (Non Material Culture) คือ วัฒนธรรมที่ปรากฏออกมาเป็นนามธรรม เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเจริญด้านจิตใจและปัญญา วัฒนธรรมด้านจิตใจแบ่งย่อยออกได้ 3 ด้านดังนี้ 1) ด้านคติธรรม คือ วัฒนธรรมที่ใช้เป็นหลักในการดำรงชีวิต ได้แก่ ศีลธรรม ความเชื่อ ค่านิยมต่าง ๆ เช่น ความกตัญญู ความซื่อสัตย์ ความขยัน เป็นต้น 2) ด้านสหธรรม คือ วัฒนธรรมที่ช่วยส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข เช่น มารยาทในการรับประทานอาหารการ มารยาทในการแต่งกาย การสนทนา การมีสัมมาคารวะ การเคารพผู้อาวุโส เป็นต้น 3) ด้านเนติธรรม คือ วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมาย ซึ่งคน ในสังคมต้องยึดถือปฏิบัติตามเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม รวมถึงประเพณีต่าง ๆ ในสังคม ที่มาของประเพณี และวัฒนธรรมไทย ที่มาของประเพณีและวัฒนธรรม น่าจะเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น 1.สภาพนิเวศและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้นบริเวณศูนย์สูตรมีลมมรสุมพัดผ่านตลอดปี ทำให้มีฝนตกตลอดปี ทำให้เหมาะต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักส่วนใหญ่ สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ มีผลการดำเนินชีวิตจนกลายเป็นประเพณีและวัฒนธรรม เช่น สภาพอากาศร้อนเกิดประเพณีสงกรานต์ การสร้างบ้านทรงไทย ประเพณีลอยกระทง ที่สอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์ที่มีแม่น้ำลำคลองเป็นจำนวนมาก ประเพณีการทำขวัญข้าว เป็นต้น 2.ประวัติศาสตร์ เรื่องราวของสังคมในอดีตที่ประเทศไทยมีการสร้างถิ่นฐานมาช้านาน มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจนถึงปัจจุบันได้สร้างประเพณีสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้น เช่น วันฉัตรมงคล วันเฉลิมพระชนม์พรรษา วันพืชมงคล เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพระบรมหาราชวังเมืองหลวงที่สำคัญในอดีต เช่น เมืองสุโขทัย เชียงใหม่ ตลอดจนแหล่งโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่มีทั่วทุกภูมิภาคล้วนเป็นบ่อเกิดของประเพณี และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ 3.ศาสนาและลัทธิความเชื่อ ความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อของอำนาจเหนือธรรมชาติ และศาสนา ทั้งที่เป็นของดั้งเดิมพื้นบ้านและที่นำมาจากศาสนาและลัทธิ เช่น การทำขวัญนาค การตั้งศาลพระภูมิ การรดน้ำคู่บ่าวสาว เป็นต้น 4. อิทธิพลของสังคมอื่น เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นจุดรวมของวัฒนธรรมจีนและอินเดีย รวมทั้งชนเผ่าต่าง ๆ เมื่อเข้ามาอาศัยอยู่รวมกันในประเทศไทย ทำให้เรารับวัฒนธรรมชาติอื่น และนำมาปรับปรุงจนกลายเป็นวัฒนธรรมไทย เช่น 4.1 พระพุทธศาสนา ไทยรับมาจากอินเดีย ที่ติดต่อกันทางการค้า 4.2 ภาษาไทย เรามีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน โดยเราดัดแปลงมาจากอักษรขอม และภาษาบาลี – สันสกฤต 4.3 วรรณคดี เช่น เรื่องรามเกียรติ์ ที่รับเนื้อเรื่องมาจากเรื่องรามายณะ ของอินเดีย แต่ปัจจุบันรามเกียรติ์เป็นวรรณคดีของไทย ที่ทิ้งวรรณคดีของอินเดียอย่างหมดสิ้น 4.5 นาฏศิลป์ที่รับมาจากชาติอื่น เช่น อินเดีย ได้แก่ โขน การฟ้อนรำ แล้วเรามาดัดแปลงเป็นของไทย 4.6 สถาปัตยกรรม ได้แก่ รูปทรงเจดีย์ ที่สันนิษฐานว่ารับมาจากลังกา 4.7 วิถีการดำเนินชีวิต เช่น การแต่งกาย การทักทาย อาหาร เป็นต้น ที่เรารับแล้วมาดัดแปลงเป็นของไทยโดยสิ้นเชิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น